ผู้ป่วยเบาหวานกับเท้าแสนรัก..สำหรับชาวมะรุม
อ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์
อ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
คลินิกสุขภาพเท้า ภ.เวชศาสตร์ฟื้นฟู
"เท้า" เป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก แต่มักถูกมองข้าม และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สมกับการใช้งานของมนุษย์ ปัญหาของเท้าที่พบบ่อยมีทั้งปัญหาของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของเท้าโดยตรง ปัญหาทางระบบประสาท และระบบหลอดเลือด ซึ่งมักเป็นผลจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง เส้นเลือดอุดตัน สูบบุหรี่จัด เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังที่เท้า หรือมีเท้าผิดรูป ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้คล่องตัวนัก และหากเป็นมากอาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะส่วนขาและเท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่มักมีแผลเรื้อรัง รักษายาก จำเป็นต้องอยูภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าโอกาสที่จะถนอมอวัยวะส่วนนี้จะไม่มี เรามาดูกันค่ะว่าต้องทำอย่างไร
ทำ 10 ข้อ ถนอมเท้า
1. พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปรกติ (ต่ำกว่า 126 มก. / ดล.)
2. หมั่นทำความสะอาดเท้าทุกวัน และเช็ดเท้าให้แห้งทันที เพราะถ้าปล่อยให้เท้าแห้งเองผิวส่วนเท้ามักแห้งกว่าปรกติ ซึ่งผิวแห้งเป็นผิวที่ไม่แข็งแรง อาจเกิดแผลได้ง่าย
3. สำรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า
4. หากผิวเท้าแห้งควรทาครีมบาง ๆ แต่ไม่ควรทาโดยตรงบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า เพราะซอกระหว่างนิ้วเท้าเป็นจุดอับชื้น อาจเกิดเชื้อราได้ง่าย
5. หากต้องใช้น้ำอุ่นทำความสะอาดเท้าควรใช้มือหรือข้อศอกตรวจวัดระดับอุณหภูมิก่อน เพราะผู้ป่วยเบาหวานมักรับรู้ความรู้สึกบริเวณมือหรือข้อศอกได้ดีกว่าบริเวณเท้า ที่สำคัญยังลดโอกาสที่จะถูกน้ำร้อนลวกอีกด้วย
6. หากมีอาการเท้าเย็นเวลากลางคืนควรสวมถุงเท้าเท่านั้น ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือแช่เท้าในน้ำร้อนเป็นอันขาด เพราะผู้ป่วยมีโอกาสโดนน้าร้อนลวกโดยไม่รู้ตัว
7. เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า ไม่คับไม่หลวม
8. ตรวจดูรองเท้าทั้งภายในและภายนอกก่อนใส่ทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือวัตถุมีคมที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า
9. หากมีปัญหาเรื่องสายตา ควรให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดช่วยตรวจเท้าและรองเท้าให้ทุกวัน
10. อย่าลืมนัดสำคัญกับแพทย์ และหากพบอาการผิดปรกติแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
ต้องห้าม 7 ประการ
1. ห้ามสูบบุหรี่ เพราะมีผลให้หลอดเลือดส่วนปลายตีบ การไหลเวียนโลหิตสู่ผิวหนังและปลายประสาทลดลง
2. ห้ามแช่เท้าในน้ำ เพราะการแช่เท้าในนํ้าทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น โอกาสเกิดแผลก็ง่ายตามไปด้วย
3. ห้ามตัดเล็บลึกถึงจมูกเล็บ ควรตัดตามแนวของเล็บเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาเล็บขบ
4. ห้ามตัดตาปลา หรือหนังด้านด้วยตนเอง
5. ห้ามใช้สารเคมีใด ๆ ลอกตาปลา
6. ใส่รองเท้าทุกครั้งที่เดิน และควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบริเวณพื้นผิวที่ร้อน เช่น หาดทราย หรือพื้นซีเมนต์
7. ห้ามใส่รองเท้าแตะแบบมีที่คีบระหว่างเท้า เพราะผิวหนังบริเวณซอกนิ้วเท้าค่อนข้างอ่อนบาง มีโอกาสเกิดแผลได้ง่าย
ทราบอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมดูแลเท้าของท่านนะคะ เพราะอวัยวะส่วนนี้ต้องอยู่กับเราไปตลอดชีวิต หากเริ่มถนอมเท้ากันตั้งแต่วันนี้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อวัยวะส่วนนี้ก็จะอยู่กับท่านไปอีกนาน และหากต้องการคำปรึกษา ศิริราชเรามีบริการ "คลินิกสุขภาพเท้า" ที่ตึกผู้ป่วยนอกเก่า ชั้น 1 สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0 2419 7504