พันธุกรรม อาหารกับโรคมะเร็ง
ปัจจุบันวงการแพทย์พบว่า คนเราจะเป็นมะเร็งได้นั้นจะต้องมีพันธุกรรมมะเร็ง (ยีนมะเร็ง) ในเซลล์ของร่างกายร่วมกับได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ในระยะ 10 ปีมานี้ พบว่ามียีนมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในมนุษยชาติ
ยีนมะเร็งเหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งทุกรายจริงหรือ
ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมมะเร็ง ได้ประเมินว่ามีเพียงประมาณร้อยละ 5-10 ของมะเร็งทั้งหมด ที่เกิดจาก “ยีนมะเร็ง” และถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยีนมะเร็ง ยีนสุนัขเฝ้าบ้าน แต่ละเซลล์ของมนุษย์จะมียีน (หรือแถบพันธุกรรม) ประมาณ 5 หมื่นถึงแสนยีน แต่ละยีน ประกอบด้วย ดีเอ็นเอ ทำหน้าที่สั่งการทำงานของเซลล์ ยีนเหล่านี้จะมีคล้ายสวิตซ์ปิด-เปิด ที่ตอบสนองต่อคำสั่งการในร่างกาย และจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ยีนเหล่านี้จะควบคุมให้เซลล์ในร่างกายเจริญเป็นปกติ เรียกว่า “ยีนสุนัขเฝ้าบ้าน” แต่ถ้ามีสารจากภายนอกที่ร่างกายได้รับสะสมไว้นาน ๆ จะทำลาย ดีเอ็นเอ จนซ่อมแซมกลับคืนไม่ได้ หยุดทำงาน ทำให้การควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์เสียไปเกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น
ยีน-กำแพงป้องกันมะเร็ง
- มะเร็งเกิดจากการสะสมของการทำลายของยีนเป็นเวลานาน ๆ 10-30 ปี
- ส่วนใหญ่นักวิทยาศาสตร์มักจะสนใจกับยีนสุนัขเฝ้าบ้าน
- พบว่ากรดไขมันบางชนิดมีผลต่อยีน BRCA-1 จึงยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมได้
- ยีน p-53 มักจะกลายพันธุ์ได้ในช่วงชีวิตของมนุษย์ พบว่าประมาณ 50% ของมะเร็งจะพบยีน p-53 ที่กลายพันธุ์แล้ว
- สารลัยโคฟีน ซึ่งเป็นสารฟัยโตเคมีในมะเขือเทศ จะลดการกลายพันธุ์ของยีน p-53 ได้
- กรดโฟลิกก็ลดการกลายพันธุ์ของยีน p-53 และเป็นที่ยอมรับกันว่า กรดโฟลิก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- กรดไขมันบิวทรัยเรท ซึ่งเกิดจากร่างกายย่อยสลายอาหารกากใยจะกระตุ้นการทำงานของยีน p-21 และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นหาว่ามียีนอะไร ที่จะใช้เป็นตัวทำนายความรุนแรงของโรค และมีอะไรมาทำให้ยีนสุนัขเฝ้าบ้านทำงานหรือหยุดทำงานจากการกลายพันธุ์ รวมทั้งทำอย่างไรจึงจะพบว่าเริ่มมีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายแล้ว
อาหารและพฤติกรรมการกินอยู่ของมนุษย์กับโรคมะเร็ง
- สิ่งแวดล้อมที่มีสารพิษจะทำลายยีน โดยเฉพาะยีนสุนับเฝ้าบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็พบว่ามีสารบางอย่างสามารถจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่ยีนถูกทำลายไปแล้วได้ เช่น สารแอนติออกซิแดนท์ จากพืชผัก ผลไม้ หรือสารฟัยโตเคมีในเต้าหู้ เป็นต้น
- จากการวิจัยพบว่าร้อยละ 40-60 ของมะเร็งมักจะเกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น คนที่กินไขมันมาก ๆ สูบบุหรี่ กินเหล้า แต่กินพืชผักผลไม้น้อย กินเมล็ดธัญพืชน้อย คนเหล่านั้นมักจะเสียชีวิตจากมะเร็ง
- มะเร็งส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แม้ว่าในร่างกายจะพบว่ามียีนมะเร็งก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านอาหารการกินและความเป็นอยู่เสียใหม่ ก็อาจจะไม่เป็นมะเร็งได้
เมื่อเริ่มมีการกลายพันธุ์ของยีน การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหารและความเป็นอยู่จะทำให้ยีนกลับเข้าสู่หน้าที่ปกติ นี่คือการป้องกันมะเร็งที่แท้จริง
ในอนาคต มนุษย์เราอาจจะต้องกินอาหารตามสูตร ตามแบบแปลนของยีนในร่างกายของแต่ละคน แต่ใน
ปัจจุบันนี้เราพอจะมีแนวทางพื้นฐานสำหรับทุกคนในการป้องกันมะเร็ง (บันได 9 ขั้น) ดังนี้ :-
อาหารและพฤติกรรมของมนุษย์ในการป้องกันมะเร็ง (สถาบันวิจัยโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา)
1. กินพืชผัก ผลไม้และเมล็ดธัญพืชเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 5-6 ชนิด (ผล) จะได้ทั้งสาร
แอนติออกซิแดนท์ และสารฟัยโตเคมี
2. กินไขมันให้น้อย โดยเฉพาะไขมันสัตว์ (ถ้าอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว)
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายแข็งแรง อย่าให้อ้วน
4. งดบุหรี่และเหล้า
5. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดมากเกินไป สวมเสื้อผ้ากันแดด หรือใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป
6. พบแพทย์เมื่อสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลผิดปกติในร่างกาย
7. พบแพทย์เมื่อมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8. ควรตรวจค้นหามะเร็งที่พบบ่อยในคนไทยเป็นประจำ เช่น ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตรวจภายในเพื่อหามะเร็งปากมดลูก
9. ถ้ามีญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งแรกเริ่มให้บ่อยขึ้น หรือเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอยู่เสียใหม่ตามคำแนะนำของแพทย์
การตรวจพันธุกรรมมะเร็ง
- ปัจจุบันทางการแพทย์สามารถจะตรวจสอบด้านพันธุกรรมของมะเร็งบางชนิดได้ แต่ยังไม่สามารถจะนำมาตรวจกับประชาชนทั่วไปได้ คงใช้เฉพาะในการวิจัยเท่านั้น
- เพราะการตรวจจะมีราคาแพง แปลผลยาก ต้องเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ บุคคลในครอบครัว และที่สำคัญ คือ ยังไม่มีการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในกรณีที่การตรวจให้ผลบวก
- ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ตรวจพบยีนมะเร็ง BRCA-1 ในสตรีผู้หนึ่งแล้ว ซึ่งอาจจะทำนายได้ว่าร้อยละ 85 ของสตรีที่มียีนชนิดนี้ จะเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี นอกจากเขาจะเสี่ยงกับการเกิดมะเร็งเต้านมแล้ว สตรีผู้นี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
- ปัญหาคือแพทย์ปฏิบัติอย่างไรกับสตรีผู้นี้
• ตัดเต้านมออกทั้ง 2 ข้าง ?
• ตัดรังไข่ออก ?
• ตัดมดลูกออก ?
• เฝ้าดูเฉยๆ ?
• แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองบ่อย ๆ
• สังเกตอาการผิดปกติในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ และลำไส้
• แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหาร เช่น ลดไขมันจากสัตว์ งดยาที่เข้าฮอร์โมนเพศ ออกกำลังกายอย่าให้อ้วน กินอาหารที่มีกากใย ฯลฯ
|